เมื่อมาเยือนจังหวัดประจวบคีรีขัน อย่าพลาดไปแวะไปเยี่ยม ’สะพานปลาหัวหิน’ เป็นตลาดขายปลาที่สดที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นสะพานทอดยาวมุ่งหน้าสู่ทะเล ใช้สำหรับเป็นท่าเทียบเรือประมง ในทุกช่วงเช้าจะมีการส่งอาหารทะเลสดใหม่ที่จับมาได้มาขายในบริเวณสะพาน ซึ่งจะเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้ามากมายเดินทางกันมาแต่เช้า เพื่อเลือกซื้ออาหารทะเลสดๆ ไปเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร หรือนำไปขายต่อเพื่อให้ได้กำไร เพราะราคาที่สะพานปลาขายถูกกว่าท้องตลาดอย่างมาก ในขณะที่นักท่องเที่ยวก็มาเดินเลือกซื้อกุ้ง หอย ปู ปลา กันอย่างสนุกสนานเพื่อนำกลับไปปิ้งย่างในที่พักของตัวเอง
นอกจากสะพานปลาจะเป็นแหล่งขายอาหารทะเลที่สดใหม่แล้ว ยังเป็นสถานที่เหมาสำหรับเดินเยี่ยมชมวิวท้องฟ้าสีครามและทะเลอีกด้วย เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวประมงว่า ในกิจวัตรแต่ละวันพวกเขาทำอะไรกันบ้าง ถ้าลองมองลงไปที่ใต้สะพานจะสังเกตได้ว่ามีปลาชุกชุมอยู่เต็มไปหมด เปรียบเสมือนสวรรค์ของนักตกปลาที่ต่างนั่งตกปลากันอยู่ริมสะพาน ในขณะที่ยามเย็นจะมีบรรดานักท่องเที่ยวเดินมาที่ชายสะพานเพื่อรอชมกับช่วงเวลาที่งดงามที่สุดของวัน หรือก็คือ ‘ชมพระอาทิตย์ตกดิน’ ซึ่งจะสาดส่องแสงสีเหลืองทองอร่ามตัดกับท้องฟ้าสีครามจนเกิดเป็นภาพที่งดงาม
ประวัติของสะพานปลาหัวหิน จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ในสมัยก่อนสะพานปลาแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกระเกษตรฯ ซึ่งถูกสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2506 ทรงเห็นว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมในการซื้อขายอาหารทะเลของชาวประมง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวบ้านก็ได้เริ่มช่วยกันอนุรักษ์สะพานแห่งนี้ให้อยู่ในสภาพดีเสมอ อีกทั้งยังใช้เป็นพื้นที่ในการทำมาหากิน ซึ่งทางรัฐบาลก็วางแผนสนับสนุนให้มีการเปิดร้านค้าขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการซื้อขายอาหารทะเล
ล่าสุดนี้ก็มีโครงการที่กำลังนำร่องพัฒนาสะพานปลาใหม่ ให้เป็นตลาดที่มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศญี่ปุ่น พร้อมหาแนวทางในการพัฒนาให้สะพานแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชน นอกจากนี้ยังต้องลดปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง ปัจจุบันนี้ก็มีการนำตาข่ายมาดักขยะตามท่อที่ปล่อยน้ำออกสู่ทะเล ซึ่งก็ช่วยดักจับขยะไม่ให้ลอยออกสู่ท้องทะเล แนวคิดพัฒนาเหล่านี้เป็นต้นแบบที่นำมาจากตลาดปลาซึกิจิ ที่เป็นตลาดปลาชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น
เหตุผลที่ใช้ต้นแบบของประเทศญี่ปุ่น นั่นก็เพราะตลาดปลาของญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นประเทศเกาะที่อยู่กลางทะเล จึงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการด้านประมงดีเยี่ยม จึงเป็นเรื่องที่ดีหากจะศึกษาจากโมเดลที่ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งรัฐบาลเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะนำมาพัฒนาภายในชุมชนได้ ส่วนจะมีการพัฒนาออกมาในรูปแบบใดก็ต้องมาติดตามดูกันต่อไป โดยมีประธานกรรมการองค์การสะพานปลาเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล พร้อมผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
ซึ่งทางเอกชนก็ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลให้เข้ามาดูแลการซ่อมแซมสะพานเก่า โดยเริ่มดำเนินการซ่อมแซมตั้งแต่ คาน พื้น รวมถึงส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซม ในขณะที่ทางเทศบาลก็ได้มีจัดหารถเครนมาช่วยอำนวยความสะดวกในการซ่อมแซมสะพานต่อไป เมื่อสะพานแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมจนเสร็จ ก็จะเปิดให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายของกันได้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศให้มาจับจ่ายใช้สอยกันที่สะพานปลามากขึ้น แถมยังเป็นการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านอีกด้วย